คำว่า ราชาศัพท์ มีความหมายว่า ศัพท์หรือถ้อยคำสำหรับพระราชา ศัพท์หลวง ศัพท์ราชการแต่โดยทั่วไปหมายถึง คำสุภาพที่ใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับฐานะหรือสถานภาพของบุคคลต่างๆ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ (พระราชา) พระราชวงศ์ ข้าราชการ พระภิกษุ และสุภาพชนทั่วไป
วิธีใช้ราชาศัพท์
การใช้ทรง
- ใช้ทรงนำหน้าคำนามสามัญบางคำทำให้เป็นกิริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงกีฬา (เล่นกีฬา), ทรงธรรม (ฟังเทศน์), ทรงบาตร (ใส่บาตร), ทรงช้าง (ขี่ช้าง)
- ใช้ทรงนำหน้าคำกิริยาสามัญบางคำ ทำให้เป็นกิริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงวิ่ง, ทรงยินดี, ทรงอธิบาย, ทรงยิง, ทรงเล่น, ทรงสั่งสอน
- ใช้ทรงนำหน้าคำนามราชาศัพท์บางคำ ทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงพระราชดำริ (คิด), ทรงพระราชนิพนธ์ (แต่งหนังสือ), ทรงพระสรวล (ยิ้ม), ทรงพระอักษร (อ่าน, เขียน, เรียน)
การใช้คำ พระบรม/พระบรมราชม, พระราช, พระ
- พระบรม, พระบรมราช ใช้นำหน้าคำนามที่สำคัญที่เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เช่น พระบรมราโชวาท, พระบรมมหาราชวัง, พระบรมฉายาลักษณ์, พระปรมาภิไธย, พระบรมราชวโรกาส, พระบรมราชโองการ
- พระราช ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีและอุปราช เช่น พระราชโทรเลข, พระราชหัตถเลขา, พระราชเสาวนีย์, พระราชปฏิสันถาร
- พระ ใช้นำหน้าคำที่เรียกอวัยวะเครื่องใช้ หรือนำหน้าคำสามัญบางคำที่ไม่มีราชาศัพท์ใช้ เช่น พระพักตร์, พระเศียร, พระบาท, พระเก้าอี้, พระมาลา, พระกระยาหาร
การใช้ราชาศัพท์ในคำขึ้นต้นและคำลงท้าย
- “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” ใช้ในโอกาสกราบบังคมทูลขึ้นก่อนเป็นครั้งแรก
- “พระพุทธเจ้าข้าขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า...” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสที่มีพระราชดำรัสขึ้นก่อน
- “พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม...” หรือ “พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม...” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงความขอบคุณที่ได้รับความช่วยเหลือ
- “เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม” หรือ “เดชะพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม...” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงว่ารอดพ้นอันตราย
- “พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม...” หรือ “พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม...” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสทำผิดพลาด
- “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา...” หรือ “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท...” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสที่จะต้องกล่าวถึงของไม่สุภาพ คำกราบบังคมทูลจะต้องใช้ “ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ไม่ใช้ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เพราะคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เป็นคำสรรพนามมีความหมายว่า “ท่าน” เท่านั้น
คำกราบบังคมทูลจะต้องใช้ “ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ไม่ใช้ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เพราะคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เป็นคำสรรพนามมีความหมายว่า “ท่าน” เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น